คุณสมบัติแรกของนักเขียนคือ “ความอยาก”





เชื่อว่าหลายคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ มักจะมีความฝันอยู่ลึกๆ ว่า “ซักวันหนึ่งฉันจะเขียนหนังสือให้ได้ซักเล่ม” หรือ “ฉันอยากจะเขียนหนังสือให้ได้แบบนี้” แต่ทั้งสองประโยคที่กล่าวมาขั้นต้นนั้นมักจะตามมาด้วยคำถามว่า “แล้วฉันจะเริ่มต้นอย่างไรดี?” ใช่ไหม บทความที่ผู้เขียนเขียนขึ้นนี้เป็นการเขียนที่เรียกว่า “แชร์ประสบการณ์” มากกว่า “สอน” เพราะอันที่จริงผู้เขียนเองก็ไม่ได้เขียนหนังสือเก่งอะไรหรือมีชื่อเสียอะไรนัก เพียงแต่อยากเขียนเพื่อ  “แชร์ประสบการณ์” ให้กับผู้เริ่มต้น ผู้ที่ไม่รู้ และผู้ที่อยากรู้ ส่วน “ผู้” ที่อยู่นอกเหนือจากนี้คงไม่จำเป็นต้องอ่านแล้ว


โดยเบื้องต้นนี้ผู้เขียนจะเขียนตั้งแต่แรกเริ่มเลยคือ “คุณสมบัติของนักเขียน” จะเขียนแบบไม่วิชาการเกินไปนัก โดยจะสอดแทรกเนื้อหาสาระพื้นฐานของการเขียน พื้นฐานของนักเขียน ตลอดไปจนถึงการส่งงานเขียนของเราไปให้บรรณาธิการนิตยสารต่างๆ รวมถึงสำนักพิมพ์พิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่ายิ่งในยุคดิจิตอลด้วยแล้ว งานเขียนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเท่านั้น หากแต่ยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราจะสามารถส่ง “สาร” (งานเขียน) ของเราไปสู่กลุ่มผู้อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แน่นอนมันย่อมเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากการทำ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า E-Books  ซึ่งผู้เขียนจะเขียนเป็นลำดับตามขั้นตอนต่อไป


                แรกเริ่มเลยหลายคนคงสงสัยว่า การจะเป็นนักเขียนนั้นจะต้องมี “คุณสมบัติอะไรบ้าง?” แน่นอนการจะทำอะไรก็ตามย่อมจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “คุณสมบัติขั้นพื้นฐาน” เป็นองค์ประกอบอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นนักจิตกร นักออกแบบ นักแสดง ฯลฯ ก็ย่อมมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่แตกต่างกันไป เพราะถ้าหากเราไม่มีคุณสมบัติพื้นฐานของสิ่งที่เราสนใจอยากจะทำแล้ว ก็ย่อมจะทำไม่สำเร็จหรือสำเร็จยาก ถึงที่สุดก็อาจจะถอดใจหรือล้มเลิกเอาดื้อๆ เลยก็ได้ แล้ว “คุณสมบัติของนักเขียน” ละมันจะต้องมีอะไรบ้าง? เราลองมาสำรวจตัวเองก่อนดีไหมว่าเรามีหรือขาดคุณสมบัติของนักเขียนข้อใดบ้าง
งานเขียนนั้นเป็นศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์ เราต้องเรียนรู้สองสิ่งนี้ไปควบคู่กันหรือเรียกกันภาษาชาวบ้านก็ต้องว่า งานเขียนมันเป็นทั้งพรสวรรค์และพรแสวง พรสวรรค์นั้นมาจากความชื่นชอบและความสนใจส่วนตัวเป็นทุนเดิม พรแสวงนั้นมาจากการพยายามฝึกฝน คิด วิเคราะห์ แล้วจับจุดเด่น-ด้อยในงานเขียนของบุคคลอื่นฯลฯ ทว่านอกจากสองสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้น พื้นฐานสำคัญของการเขียนหนังสือคือ “การอ่าน” ยิ่งเราอ่านมากเท่าไร เราก็สามารถที่จะเขียนได้ดีมากเท่านั้น และเมื่อเรา “อ่าน” มากจนถึงระดับหนึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ “ความอยากเขียน”

 
                ฉะนั้นคุณสมบัติแรกของนักเขียนที่เราควรมีเลยก็คือ “ความอยากเขียน” อยากที่จะเขียน อยากที่จะเล่าเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามเช่นเรื่องประสบการณ์ชีวิต เรื่องความหลัง เรื่องความสุข เรื่องความเศร้า เรื่องความรัก เรื่องราวในวัยเด็ก หรือเรื่องที่พบเห็นทั่วไป ฯลฯ เราจะต้องมี “ความอยากเขียน” ในระดับที่ “ทน” ไม่ได้เสียก่อน กล่าวคือฉันจะต้องเล่ามันออกมาให้ได้ไม่งั้นฉันอาจจะอกแตกตายไปเลยประมาณนั้น  เพียงแต่การเล่าในแบบของเรานั้นมันไม่ได้ใช้ “ปาก” เล่าหากแต่ใช้ “ปากกา” หรือใช้ “การเขียน” เล่าแทน ซึ่งความยากของการเล่าโดยงานเขียนนั้นมันมีรายละเอียดปลีกย่อยและยุ่งยากมากกว่าการเล่าด้วยปากมากนัก เพราะการเล่าด้วยงานเขียนนั้นอารมณ์ความรู้สึกมันแสดงออกทางตัวอักษรไม่ได้แสดงออกทางน้ำเสียงหรือสีหน้าแบบการเล่าเรื่องด้วยปาก ฉะนั้นเบื้องแรกนี้คุณลองสำรวจตัวเองก่อนว่าคุณจะเป็น “นักอยากเล่า” หรือ นักอยากเขียน” มากพอหรือยัง ถ้ายังแนะนำว่าให้คุณอ่านหนังสือต่อไป เพราะเมื่อเราอ่านมากๆ ความอยากเล่าก็จะตามมาเอง


คุณสมบัติแรกของนักเขียนคือ “ความอยาก”


เมื่อเรามี “ความอยาก” เขียนแล้ว เราก็ต้องหาสิ่งที่จะมารองรับสิ่งที่เราอยากเขียนหรือที่เราอยากเล่า นักเขียนหน้าใหม่หลายคนมักจะมาถึงทางตันในตรงนี้ คือไม่รู้จะเริ่มเขียนอย่างไร จะเขียนออกมาในรูปแบบไหนเรื่องสั้น นิยาย บทกวี หรือความเรียงดี เมื่อไม่รู้จริงๆ ว่าเราอยากจะเขียนในสิ่งที่เราอยากเล่านั้นออกมาในรูปแบบใดวิธีที่ง่ายที่สุดก่อนที่ความอยากมันจะหายไปก็คือ “เขียนไดอารี่” นักเขียนสมัยก่อนมากมายหลายคนชอบที่จะจดบันทึกประจำวันหรือเขียนไดอารี่ ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าคนหรือนักเขียนสมัยนี้ไม่ค่อยมีใครนิยมเขียนแล้ว เพราะโลกโซเชียลมันเข้ามาแย่งพื้นที่ไปหมด แต่นั้นมันก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีที่เราจะนำมันมาใช้ การเขียนไดอารี่ไม่จำเป็นจะต้องเขียนทุกวัน เขียนเมื่อเราเจอเหตุการณ์หรือสิ่งที่เราประทับใจเช่นความเศร้าใจ ความหดหู่ใจ ความสุขใจ หรือประสบการณ์การไปเที่ยว พูดง่ายๆ ว่า เราบันทึกอารมณ์ความรู้สึก ณ ห้วงเวลานั้นๆ เอาไว้ เคยมีนักเขียนท่านหนึ่งหรืออาจจะหลายๆ ท่านได้ให้เคล็ดลับว่า การเขียนบันทึกไดอารี่นั้นมันสำคัญต่อคนที่อยากจะเป็นนักเขียนมาก เพราะเมื่อเราอยากจะเขียนเรื่องราวอะไรเราสามารถกลับไปอ่านสิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เรา
เคยผ่านพบ สิ่งที่เราเคยรู้สึกเอาไว้แล้วนำมันกลับมาใช้ใหม่ อาจจะใช้เป็นฉากในช่วงชีวิตหนึ่งของตัวละครของเราในนิยาย หรือหากเหตุการณ์นั้นๆ เพียงแค่ไม่กี่บันทัดที่เราบันทึกมันสามารถผูกโยงเป็นเรื่องสั้นได้ซักเรื่องก็สามารถทำได้ จำเอาไว้เลยว่าเคล็ดลับในการเขียนเบื้องแรกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเขียน “ไดอารี่” หรือการเขียน “บันทึกประจำวัน” ฉะนั้นนักเขียนหลายๆ คนมักจะมีสมุดไดอารี่ติดตัวอยู่เป็นประจำเวลาไปไหนมาไหนเสมอ โดยเฉพาะกับนักเขียนที่ใช้ “บทกวี” มาบรรยายหรือสะท้อนความรู้สึกของตนเอง นักเขียนบทกวีมักจะมีสมุดไดอารี่ติดตัวอยู่ไม่ห่างกาย


สมัยที่ผู้เขียนเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ ก็เขียนไดอารี่เหมือนกัน แต่ไม่ได้เขียนทุกวันอย่างที่บอก คือจะเขียนเฉพราะเมื่อผู้เขียนเจอเหตุการณ์หรือมีความรู้สึกที่สำคัญๆ ที่อยากบันทึกเอาไว้เท่านั้น พอเราอยากเขียนเรื่องราวอะไรก็ย้อนกลับไปอ่านความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่เราบันทึกไว้มาใช้ อีกอย่างหนึ่งที่นักเขียนควรมีเลยคือสมุดพกเล่มเล็กๆ ไม่ต้องถึงขนาดเป็นสมุดไดอารี่ แล้วสมุดพกละมีไว้ทำไม? มีไว้เพื่อจดบันทึกในสิ่งที่เราต้องการให้มี เหตุการณ์ให้เกิดกับตัวละคร เคยดูหนังฝรั่งที่มีตัวละครเอกเป็นนักเขียนไหม จะเห็นว่าฝรั่งนั้นจะมีเครื่องบันทึกเล็กๆ ติดตัวอยู่เสมอๆ เวลาที่เขาคิดอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับงานที่เขาเขียนเขาก็จะบันทึกเอาไว้เป็นคำพูด พอลงมือเขียนก็แค่เปิดฟังในสิ่งที่บันทึกเอาไว้เท่านั้น แต่เราไม่ต้องถึงขนาดที่จะต้องบันทึกด้วยเสียงก็ได้ (ซึ่งจริงๆ ถ้าทำได้ก็ดี เพราะโทรศัพท์เดี๋ยวนี้ล้วนแต่บันทึกเสียงได้ทุกเครื่องแล้ว) แล้วเราจะบันทึกไว้ไหน ก็ง่ายๆ เราอาจจะมีสมุดโน๊ตเล็กๆ สมุดพกก็ได้เอาติดตัวไว้เสมอๆ เวลาเราคิดอะไรได้ก็จดรีบจดลงไปพอถึงเวลาเขียนหนังสือเราก็แค่หยิบมันออกมาอ่านเท่านั้น


ถึงตอนนี้ผู้เขียนคิดว่านักอยากเขียนหลายคนพอจะจับแนวทางการเขียนของตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว อย่าลืมนะครับว่า “คุณสมบัติพื้นฐานของนักเขียน” เบื้องแรกเลยคือ “ความอยาก” อยากเขียน อยากเล่า อยากบอกความรู้สึก ความคิดเห็นในสิ่งที่เราอยากเล่าอยากนำเสนอไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม นักเขียนดังๆ ในอดีตไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเมืองไทยหรือนักเขียนเมืองนอก งานเขียนของพวกเขาเริ่มมาจาก “ความอยาก” ทั้งสิ้น อยากที่จะสะท้อนให้เห็นถึงพิษภัยของสงคราม อยากที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความเศร้าโศกของสงคราม อยากที่จะบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ในภาวะสงคราม หรือเมื่อสงครามสงบประเทศเกิดความสุขงานของนักเขียนรุ่นใหม่ก็จะเปลี่ยนไป อาจจะอยากเขียนเรื่องความรักของผู้คน อยากเขียนเรื่องที่อ่านง่ายๆ ไม่เคร่งเครียดหรือบีบรัดความรู้สึกของผู้อ่านเกินไปนัก ฉะนั้นงานเขียนจะออกมาในรูปแบบใดสภาพสังคม ณ เวลานั้นๆ ก็มีส่วนเป็นตัวกำหนดเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น


ถึงตอนนี้ถ้าคุณคิดว่าคุณมีความอยากมากพอแล้วลองดู “คุณสมบัติของนักเขียน”  ข้อต่อไปว่าคุณมีไหมซึ่งผู้เขียนจะเขียนมาให้อ่านในบทต่อไป.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น